ระวังโรคหูดับ หรือเสียชีิวิตด้วย โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เพื่อสุขภาพควรรับประทานเนื้อและเลือดสุกร ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

งานปีใหม่ชาวปศุสัตว์ 2555

29 ธันวาคม 2554 หลังเสร็จสิ้นการประชุมกลุ่มผู้นำอาสาปศุสัตว์ประจำอำเภอและข้าราชการประจำเดือน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานสนุกสนานรื่นเริงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2555 สไตล์คาวบอยของพี่น้องชาวปศุสัตว์ สร้างความคึกคักครื้นเครงคลายความเหน็ดเหนื่อยกิจการงานที่ตรากตรำมาตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม ธันวาคม 2554

22 ธันวาคม 2554 ร่วมออกปฏิบัติการอำเภอยิ้ม ณ หมู่ที่ 12 บ้านสันป่าเกี๊ยะ ต.แม่นะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวม้งกว่า 200 ครอบครัว ประชากรกว่า 700 คน ประกอบอาชีพด้านการเกษตรซึ่งช่วงนี้มีผลผลิตส้ม ด้านปศุสัตว์ส่วนใหญ่เลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก ด้านการเลี้ยงโคเฉพาะในส่วนพี่น้องชาวม้งนั้นมีข้อจำกัดด้านการทำลายไร่สวนและปัญหาด้านสินไหม จึงไม่มีการเลี้ยงโคแต่จะมีการเลี้ยงเฉพาะหย่อมบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่ำลงมาคือบ้านปางฮ่าง โดยมีโคราว 80 ตัว

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตรวจเยี่ยมฟาร์มไก่กระดูกดำ

1 ธันวาคม 2554 นายสัตวแพทย์ รักไทย งามภักดิ์ (ผู้อำนวยการส่วนโรคสัตว์ปีก) พร้อมคณะ ได้เยี่ยมสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงดาว ทั้งตรวจเยี่ยมรัตนวรรณฟาร์ม(ไก่ดำ) ของคุณชินรัตน์ - วรรณนา เมืองขุนทด 234 หมู่ที่ 4 บ้านแม่ข้อน ตำบลเมืองงาย เพื่อสอบถามสภาวะสุขภาพสัตว์และให้คำแนะนำด้านการควบคุมป้องกันโรคในฟาร์ม จากตัวอย่างและประสบการณ์ที่ถ่ายทอดนับเป็นประโยชน์ยิ่ง

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม ตุลาคม 2554

20 ตุลาคม 2554 ร่วมออกบริการอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ ณ ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่ 1 บ้านเมืองนะ ตำบลเมืองนะ ซึ่งนับว่าเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรเป็นพี่น้องชาวไทยใหญ่อยู่อย่างหนาแน่น ด้วยความหลากหลายจนสามารถแยกขยายออกเป็นหมู่ที่ 8 บ้านจองคำ(จีน) และหมู่ที่ 13 บ้านเจียจันทร์(ลาหู่) การเลี้ยงโค-กระบือมีน้อยมาก แต่ก้ยังมีสุกรและสัตว์ปีกอยู่ทั่วไป และด้วยท่านนายอำเภอภาษเดช หงส์ลดารมภ์ ได้รับคำสั่งตำแหน่งใหม่จึงได้กราบลาหลวงตาม้า(วัดถ้ำเมืองนะ)และขอพรเพื่อศิริมงคลด้วยในครั้งนี้

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชุมโซน 1 / 2555

17 ตุลาคม 2554 นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้ประชุมปศุสัตว์อำเภอกลุ่มที่ 1 (โซนเหนือ) เพื่อติดตามและมอบหมายภาระกิจเฉพาะประจำเดือน ตุลาคม ณ ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงดาว

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม กันยายน. 2554

22 กันยายน 2554 ร่วมหลายหน่วยงานออกบริการอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ ณ หมู่ที่ 5 บ้านสบงาย ตำบลเมืองงาย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ดูแลของเทศบาลตำบลพระธาตุปู่ก่ำ

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

อบรมกลุ่มผู้เลี้ยงไกพื้นเมือง 1 / 2554

20 กันยายน 2554 นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเกษตรกร ในหลักสูตรการเสริมสร้างองค์ความรู้การเลี้ยงไก่แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองอำเภอเชียงดาว พร้อมให้การบรรยายแนวนโยบายและทิศทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม ทั้งยังสนับสนุนเวชภัณฑ์และรองเท้าบู๊ตแก่เกษตรกรผู้เข้ารับการอบรม เพื่อสร้างแรงกระตุ้นและขวัญกำลังใจแก่คณะกรรมการกลุ่มฯ การอบรมครั้งนี้ดำเนินการ ณ รัตนวรรณฟาร์ม(ไก่ดำ) 234 หมู่ที่ 4 บ้านแม่ข้อน ตำบลเมืองงาย ซึง่ได้คัดเลือกเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ตามแนวนโยบาย 1 อำเภอ 1 กลุ่มเกตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชุมปศุสัตว์กลุ่มโซนเหนือ

13 กันยายน 2554 นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตามงานและประเมินผลการปฏิบัติราชการของปศุสัตว์อำเภอ (กลุ่มที่ 1) หรือกลุ่มโซนเหนือ 6 อำเภอ พร้อมประชุมข้อราชการด้านภัยพิบัติ / การเฝ้าระวังโรคระบาดที่สำคัญ / การส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ในระดับตำบล เพื่อทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคตามนโยบายสั่งการ ณ ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงดาว

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

จ.เชียงใหม่ มอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ 2554

4 กันยายน 2554 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดดำเนินการ "โครงการมอบกรรมสิทธิ์ และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระราชกุศล และเป็นการสนองพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มีโอกาสเป็นเจ้าของโค-กระบือ ไว้ใช้แรงงานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จัดพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือขึ้น ณ วัดโชติกุนวรรณาราม (วัดหมูบุ่น) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายในศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธีบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน โดยมีตัวแทนเกษตรกรรับมอบกรรมสิทธิ์จาก อำเภอเชียงดาว , พร้าว และแม่อาย ร่วมในครั้งนี้ด้วย

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จังหวัดเคลื่อนที่ ปางมะเยา

25 สิงหาคม 2554 หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ออกปฏิบัติราชการจังหวัดเชียงใหม่เคลื่อนที่ โดยนำทีมหลายหน่วยงานต่างออกพบปะบริการประชาชน พร้อมมอบนโยบายทั้งรับทราบปัญหาในพื้นที่เพื่อหาและให้แนวทางแก้ไข ณ โรงเรียนบ้านปางมะเยา หมู่ที่ 4 บ้านปางมะเยา ตำบลปิงโค้ง

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม สค. 2554

18 สิงหาคม 2554 ร่วมหลายหน่วยงานออกบริการอำเภอยิ้ม ณ หมู่ที่ 14 บ้านป่าตึงงาม ตำบลปิงโค้ง ข้อมูลด้านปศุสัตว์แล้วจัดว่าเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรโคที่มากที่สุดในอำเภอเชียงดาว และมีการเลี้ยงสุกรเกือบทุกหลังคารวมทั้งการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

ซ้อมแผนอพยพชายแดน 2554

16 สิงหาคม 2554 ร่วมซ้อมแผนอพยพราษฎร ส่วนราชการ การพิทักษ์พื้นที่เขตหลัง เนื่องมาจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย - สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมีเขตพื้นที่เสี่ยงภัยของ ตำบลเมืองนะ

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โคกระเทียมบ้านห้วยไส้

4 สค. 2554 ออกเยี่ยมการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผช.ผญบ. สมจิตร จันตา ม.7 บ้านห้วยไส้ ต.เมืองนะ ที่เลี้ยงโคเกือบ 40 ตัว เนื่องจากสภาพพื้นที่บริเวณโรงเรือนเป็นแอ่งเนินเขา ช่วงฝนจึงเป็นโคลนแฉะแต่โคก็สุขภาพสมบูรณ์ดี ที่แปลกตากว่าที่แห่งอื่นๆคือการนำจุกกระเทียมแห้ง นำมาเป็นพืชอาหารให้โคกิน ผช.สมจิตร เล่าว่าพบโดยบังเอิญหลังจากช่วงเย็นต้อนฝูงโคเข้าคอก โคมักแวะกินกองกระจุกแห้งของกระเทียม ซึ่งเป็นส่วนผลพลอยได้จากการเก็บรักษากระเทียม ที่นำส่วนหัวกระเทียมออกแล้ว โคจะกินอย่างเอร็ดอร่อยราวกับหญ้าแห้งและกินได้อย่างไม่จำกัด หรือแสดงอาการผิดปกติใดๆให้เห็นโดยกินแบบนี้มาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว จึงเห็นการเก็บกระจุุกกระเทียมที่ไม่ต้องนำไปทิ้งให้เปล่าประโยชน์เหมือนก่อนมา และเห็บที่เคยมีแต่ก่อนก็หายไปหมด ที่อาจตรงกับเอกสารว่าโคจะมีกลิ่นออกมาโดยเห็บไม่ชอบ ทั้งสารในส่วนของกระเทียมยังช่วยเป็นยาถ่ายพยาธิและสามารถลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย อย่างนี้แล้วต่อไปกระจุกกระเทียมแห้งคงไม่มีทิ้งกองให้เห็นอีกแล้ว สนใจสอบถามเพิ่มเติม 08 - 9851 - 8084

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อบรมเกษตรกรหมูหลุม 200654

20 มิถุนายน 2554 ร่วมนำเกษตรกรอบรมรับความรู้ด้านการเลี้ยงหมูหลุม ณ ฟาร์มคุณนเรศ คำอ่อน ซึ่งเป็นวิทยากรศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ 3/2 หมู่ที่ 4 บ้านกลางดง ตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ มีรูปแบบฟาร์มที่ค่อนข้างมาตรฐาน และพลิกแพลงวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในฟาร์มอย่างน่าทึ่ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมที่ 08 - 1885 - 8057

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อบรมเกษตรกร 140654

14 มิถุนายน 2554 นำเกษตรกร ม.7 บ้านห้วยไส้ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ไปอบรมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ณ ม.9 บ้านพระธาตุ ตำบลแม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ตามโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ปี 2554 (รุ่นที่ 1) โดยมีคุณซิมโอน ปัญญา เป็นวิทยากรครั้งนี้ทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติ ถือเป็นความโชคดีของเกษตรกรผู้เข้าอบรม เนื่องจากฟาร์มแห่งนี้จะนำลูกไก่ออกจากตู้ฟักทุกๆวันอังคาร จึงได้เห็นภาพตื่นตาของประสบการณ์ที่หาโอกาสได้ยากนัก ทั้งนี้ยังได้รับการบรูณาการพาหนะเป็นอย่างดีีีีจากเทศบาลตำบลเมืองนะ

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม พ.ค. 54 (2)

26 พฤษภาคม 54 ร่วมกิจกรรมอำเภอยิ้ม ณ หมู่ที่ 10 บ้านสัน ตำบลเมืองงาย

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม พค. 54

19 พฤษภาคม 2554 ร่วมออกบริการอำเภอยิ้ม ณ หมู่ที 5 บ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ มีประชากร 102 ครัวเรือน 3 ชาติพันธุ์(ไทใหญ่ / ลาหู่ และกะเหรี่ยง) ประกอบอาชีพด้านเกษตรเป็นหลัก ซึ่งด้านการปศุสัตว์มีการเลี้ยงโค-กระบือราว 300 ตัว ด้วยมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าเขาจึงนิยมเลี้ยงแบบปล่อยป่าธรรมชาติและเฝ้าติดตามสัตว์เป็นระยะๆ มีการเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีกอยู่ทั่วไป สถานที่ท่องเที่ยวบ่อน้ำร้อนโป่งอางทั้งนี้ผู้ใหญ่บ้าน(นายจตุกร กาบแก้ว) ยังให้ดูหินชนิดหนึ่งที่มีลวดลายคล้ายยันต์ ซึ่งยันต์ในภาษาไทใหญ่เรียกว่า อาง

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

อำเภอยิ้ม มค. 54

20 มกราคม 2554 ร่วมหลายหน่วยงานออกบริการอำเภอยิ้ม ณ หมู่ที่ 11 บ้านแม่แมะ ตำบลแม่นะ ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายวงค์ แก้วใจมา ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปราชญ์ด้านอนุรักษ์ปกป้องผืนป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ทำให้ได้รับรางวัลมากมายสู่หมู่บ้านแห่งนี้ อาชีพส่วนใหญ่จะปลูกชา(เมี่ยง) กาแฟ กิจกรรมด้านสถานที่พักด้านท่องเที่ยว ด้านการเลี้ยงสัตว์มีการเลี้ยงโคเนื้อพื้นเมืองกว่า 20 ราย มีโคราว 200 ตัว ลักษณะแบบเลี้ยงปล่อยในพื้นที่ป่าธรรมชาติ โคทุกตัวไม่มีการสนตะพาย(สายดัง) เวลาจับหรือควบคุมสัตว์ก็ใช้เชือกทำบ่วงคล้องรอบคอและมีส่วนที่รูดบังคับที่ปากอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแปลกและแตกต่างจากที่อื่นๆ